วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน


  นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน

เรื่อง ตำนานผาแดงนางไอ่




           นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ผาแดงนางไอ่ อดีตกาลผ่านมาใกลโพ้น ยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ "นครเอกชะทีตา" มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองด้วยความร่มเย็น พระยาขอมมีพระธิดา ซึ่งมีพระศิริโฉมงดงามพนะนามว่า "นางไอ่คำ" ซึ่งเป็นที่รักและ หวงแหนมาก จึงสร้างปราสาท 7 ชั้นให้ อยู่พร้อมเหล่าสนม กำนัล คอยดูแลอย่างดี


          ขณะเดียวกันยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ "เมืองผาโพง" มีเจ้าชายนามว่า "ท้าวผาแดง" เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ ท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของธิดาไอ่คำมาก่อนแล้ว ใคร่อยากจะเห็นหน้า จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าพเนจร ถึง นครเอกชะทีตา และติดสินบนนางสนมกำนัล ให้นำของขวัญลอบเข้าไปให้นางไอ่คำ ด้วยผลกรรมที่ผูกพันกันมาแต่ชาติปางก่อนนางไอ่คำกับท้าวผาแดง จึงได้มีใจปฏิพัทธ์ต่อกัน จนในที่สุดทั้ง 2 ก็ได้อภิรมย์สมรักกัน


         ซึ่งก่อนท้าวผาแดงจะจากไป เพื่อจัดขบวนขันหมากมาสู่ขอ ทั้ง 2 ได้คร่ำครวญต่อกันด้วยความอาลัยยิ่ง วันเวลาผ่านไปถึงเดือน 6 เป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา จะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถนระยาขอม จึงได้ประกาศบอก ไปตามหัวเมืองต่างๆ ว่า "บุญบั้งไฟปีนี้จะเป็นการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยอีกด้วย ขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษกกับพระธิดาไอ่คำด้วย" ข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศ ทุกเมืองในขอบเขตแว่นแคว้นต่างก็ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขัน เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองเชียงเหียน เชียงทอง แม้กระทั่งพญานาคใต้เมืองบาดาลก็อดใจไม่ไหว ปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกมาดูโฉมงาม นางไอ่คำด้วยในวันงานบุญบั้งไฟ


           เมื่อถึงวันแข่งขันจุดบั้งไฟ ปรากฏว่า บั้งไฟท้าวผาแดงจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ถึง 3 วัน 3 คืน จึงระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆทำให้ความหวังท้าวผาแดงหมดสิ้นลง ขณะเดียวกัน ท้าวพังคีพญานาค ที่ปลอมเป็นกระรอกเผือก มีกระดิ่งผูกคอน่ารัก มาไต่เต้นไปมาอยู่บนยอดไม้ ข้างปราสาทนางไอ่คำ ก็ปรากฏร่างให้นางไอ่คำเห็น นางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง แต่แล้วก็จับไม่ได้ จึงบอกให้นายพราน ยิงเอาตัวตายมา ในที่สุดกระรอกเผือกพังคีก็ถูกยิงด้วยลูกดอกจนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า "ขอให้เนื้อของข้าได้แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง" จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกัน และจัดการแล่เนื้อแบ่งกันไปกินทั่วเมืองด้วยว่าเป็นอาหาร ทิพย์ ยกเว้นแต่พวกแม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจ ไม่แบ่งเนื้อกระรอกให้

           พญานาคแห่งเมืองบาดาลทราบข่าวท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตาย แล่เนื้อไปกินกันทั้งเมือง จึงโกธรแค้นยิ่งนัก ดึกสงัดของคืนนั้นขณะที่ชาวเมืองชะทีตากำลังหลับไหล เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วยพายุฝนฟ้า กระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฟ้าแลบอยู่มิได้ขาด แผ่นดินเริ่มถล่มยุบตัวลงไปทีละน้อย ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตาย เหล่าพญานาคผุดขึ้นมานับหมื่น นับแสนตัว ถล่มเมืองชะทีตาจมลงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3 - 4 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกจึงรอดตาย

         ฝ่ายท้าวผาแดงได้โอกาสรีบควบม้าหนีออกจากเมือง โดยไม่ลืมแวะรับพระธิดาไอ่คำไปด้วย แต่แม้จะเร่งฝีเท้า ม้าเท่าใด ก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติดๆ ในที่สุดก็กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำพร้อมม้าแสนรู้ชื่อ "บักสาม" จมหายไปใต้พื้นดิน

         รุ่งเช้าภาพของเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองโอฬาร ก็อันตธานหายไปสิ้น คงเห็นพื้นน้ำกว้างยาวสุดตา ทุกชีวิตในเมืองเอกชะทีตาจมสู่ใต้บาดาลจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่แม่ม่ายบนเกาะร้าง 3 - 4 แห่ง ในผืนน้ำอันกว้างนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนองหานหลวง ดังปรากฏในปัจจุบัน



ข้อคิด


1.   เวรย่อมระงับด้วยความไม่จองเวร


2.  ควรมีคติประจำใจ คือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ และ ความไม่หลง




เรื่อง  พญาคันคาก


            "คันคาก" ในภาษาอีสานที่แปลว่า "คางคก" เรื่อง "พญาคันคาก" อันเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นบุญเดือนหกในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน

            ณ เมืองชมพู พระนางสีดา มเหสีของพญาเอกราชผู้ครองเมือง ได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก ซึ่งคันคาก แปลว่า คางคก

           เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทพร้อมทั้งประทานนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่ให้เป็นชายา ส่วนท้าวคันคากเอง ก็ถอดรูปกายคันคากออกให้ กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม

           พญาเอกราชยินดีกับพระโอรส จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองเมืองต่อ ทรงพระนามว่า พญาคันคาก พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างมาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือพญาแถน ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้พญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถน จึงแกล้งงดสั่งพญานาคให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองจึงไปร้องขอพญาคันคากให้ช่วย

          พญาคันคากจึงเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน โดยส่งมดปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ พญาแถนไม่มีอาวุธ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา กลบหมด เสกงูมากัดกินกบเขียด ก็โดนรุ้ง (แปลว่าเหยี่ยว) ของพญาคันคากจับกิน ทั้งสัตว์มีพิษก็ยังไปกัดต่อยพญาแถนจนต้องยอมแพ้ในที่สุด

          พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี พญาแถนแสร้งว่าลืม พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน พญาแถนก็เห็นชอบด้วย


        
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุก ๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบเขียดคางคกที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน

ข้อคิด

1.   อย่าตัดสินใครจากรูปลักษณ์ภายนอก

2.   ผู้ปกครองที่ดีควรปกครองผู้อื่นด้วยหลักธรรม โดยเฉพาะหลักธรรมของผู้ปกครอง คือ หลักทศพิธราชธรรม


นิทานพื้นบ้านภาคใต้


นิทานพื้นบ้านภาคใต้

เรื่อง  เกาะหนูเกาะแมว





นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่ง คุมเรือสำเภาจากเมืองจีนมาค้าขายที่เมืองสงขลา…เมื่อขายสินค้าหมดแล้วจะซื้อสินค้าจากสงขลากลับไปเมืองจีนเป็นประจำ วันหนึ่งขณะที่เดินซื้อสินค้าอยู่นั้น พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเอ็นดู จึงขอซื้อพาลงเรือไปด้วย

หมากับแมวเมื่ออยู่ในเรือนานๆ…ก็เกิดความเบื่อหน่ายและอยากจะกลับไปอยู่บ้านที่สงขลา…จึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมาได้บอกกับแมวว่า “พ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ใครเกาะแล้วจะไม่จมน้ำ” แมวจึงคิดที่จะได้แก้ววิเศษนั้นมาครอบครอง จึงไปข่มขู่หนูให้ขโมยให้และอนุญาตให้หนูหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ครั้นเรือกลับมาที่สงขลาอีกครั้งหนึ่ง หนูก็ลอบเข้าไปลักดวงแก้ววิเศษของพ่อค้าโดยอมไว้ในปาก…แล้วทั้งสามได้แก่ หมา แมว และหนูหนีลงจากเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งที่หน้าเมืองสงขลา



ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายน้ำนำหน้ามาก่อนก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนอมไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวคงแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งไปตามลำพัง ดวงแก้วจะได้เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป…แต่แมวที่ว่ายตามหลังมาก็คิดจะได้ดวงแก้วไว้ครอบครองเช่นกัน จึงว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหนู ฝายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจกลัวแมวจะตะปบจึงว่ายหนีสุดแรง และไม่ทันระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปาก ก็ตกลงจมหายไปในทะเล

เมื่อดวงแก้ววิเศษจมน้ำไป ทั้งหนูและแมวต่างหมดแรงไม่อาจว่ายน้ำต่อไปได้…สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็น “เกาะหนูเกาะแมว” อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา…ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่ง…แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงขาดใจตายกลายเป็นหินเรียกว่า “เขาตังกวน” เป็นภูเขาตั้งอยู่ริมอ่าวสงขลา…ส่วนดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกแหลกละเอียดเป็นหาดทราย เรียกสถานที่นี้ว่า “หาดทรายแก้ว” ตั้งอยู่ทางเหนือของอ่าวสงขลา



นิทานรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. ให้แนวคิดว่า “อย่าโลภมาก ให้มีความสามัคคีและแบ่งปันเอื้อเฟื้อต่อกัน”
2. เกาะหนูเกาะแมวเป็นนิทานประเภทอธิบายสถานที่…ซึ่งปรากฏอยู่ที่แหลมสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา






เรื่อง ปลาแก้มช้ำ





กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีอยู่ด้วยกันสี่ชีวิต ตา ยาย หมา และแมว ยายนั้นมีแหวนอยู่วงหนึ่งงามมาก หมาเมื่อได้เห็นแหวนของยาย แล้วก็ให้นึกชอบอยู่ในใจของมันยิ่งนัก

ต่อมาไม่นาน หมาก็ได้ลักแหวนของยายไปเสีย ตายายจึงใช้ให้แมวตามไป เอาแหวนคืนมาจากหมาให้ได้ แมวก็ได้ตามไปทันหมาที่สะพานแห่งหนึ่งซึ่งหมากำลัง ข้ามอยู่บนสะพานนั้นพอดี แมวจึงได้ร้องถามหมาขึ้นว่าได้ลักแหวนของยายมาบ้างไหม หมาจึงอ้าปากจะพูดโต้ตอบกับแมว เลยทำให้แหวนที่มันคาบอยู่นั่นหล่นลงไปในคลอง เสีย และก็บังเอิญในคลองนั้นได้มีฝูงปลาฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ แหวนวงนั้นจึงได้ถูกปลาตัว หนึ่งคาบเอาไป

เมื่อแหวนได้ตกลงไปในคลองเสียเช่นนั้นแล้ว หมากับแมวก็ได้หันหน้า เข้าหากันเพื่อปรึกษาหารือที่จะงมแหวนจากคลองนั้นให้ได้ โดยหมาได้รู้สึกนึกผิดที่ได้ลัก เอาของมีค่าของผู้มีพระคุณของมันมา มันจึงได้บอกกับแมวว่า มันจะต้องเอาแหวนนั้น ไปคืนยายให้ได้ มิฉะนั้นแล้วมันก็จะไม่กลับไปบ้านของตายายอีกเป็นอันขาด หมาจึงได้ลงไปดำว่ายอยู่ในคลองเพื่อหาแหวนแต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด มันจึง คิดที่จะวิดน้ำในคลองนั้นให้แห้งเสียเลย หมาจึงได้ลงไปในคลองนั้นแล้วก็ขึ้นมาสะบัดน้ำ ออกจากตัวมันได้ทำอยู่เช่นนั้นทั้งวันทั้งคืน ฝ่ายปลาที่อาศัยอยู่ในคลองนั้นต่างก็ตกใจกลัวว่าน้ำจะแห้งแล้วพวกตนก็จะพากันตายหมด หัวหน้าฝูงปลาจึงได้มาพูดขอร้องกับหมาทันทีโดยให้หมายุติการวิด คลองเสีย แล้วตนก็อาสาเอาแหวนมาคืนให้ หัวหน้าฝูงปลาจึงได้พาบริวารออกค้นหา ปลาตัวที่คาบแหวนนั้นไปจนพบ แล้วก็ได้ขอแหวนคืนให้หมาแต่โดยดี แต่ปลาตัวนั้นก็ ไม่ยอมคืนให้ ปลาทั้งฝูงจึงโกรธปลาตัวนั้น ก็ได้พากันเข้าตบตียื้อแย่งเอาแหวนวงนั้นมา และได้นำไปให้หมาได้ในที่สุด

ในการยื้อแย่งเอาแหวนจากปลาด้วยกันครั้งนั้น ปลาตัวที่มีแหวนอยู่ในครอบครองก็ได้ถูกเพื่อน ๆ ปลาตบตีเอาจนแก้มทั้งสองช้ำชอกยิ่งนัก ปลาตัวนั้นจึงได้แก้มช้ำ มาตั้งแต่บัดนั้นและมันก็ได้มีเผ่าพันธุ์ต่อมา ปลาทุกตัวที่สืบเชื้อสายมาจากปลาตัวนี้ก็ ล้วนแต่มีลักษณะคล้ายกับแก้มช้ำเหมือนกันหมด จึงได้เรียกชื่อปลาชนิดนี้ตามลักษณะ ของมันว่า “ปลาแก้มช้ำ” มาจนทุกวันนี้



ข้อคิด



1.   ไม่ควรโลภ อยากได้ของของผู้อื่น

2.  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรู้จัก หรือคนในครอบครัว หากเรามีความเห็นแก่ตัวก็ไม่มีใครอยากมาสนิทชิดเชื้อด้วย








นิทานพื้นบ้านไทย


↠ นิทานพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคของไทย ↞




นิทาน คือ เรื่องเล่าที่มนุษย์ผูกเรื่องขึ้นด้วยภูมิปัญญา โดยส่วนใหญ่จะถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ เนื้อเรื่องมีหลากหลายและใช้เล่าเพื่อจุดประสงค์ต่างๆกัน ตามโอกาสและสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น
          คำที่ใช้เรียกนิทานมีต่างๆกันไป เช่น นิทานชาวบ้าน นิทานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง วรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นต้น ในที่นี้จะใช้ว่านิทานพื้นบ้าน



ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน



      นิทานพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะที่เห็นเด่นชัด คือ เป็นเรื่องเล่าที่มีการดำเนินเรื่องอย่างง่ายๆโครงเรื่องไม่ซับซ้อน วิธีการที่เล่าก็เป็นไปอย่างง่ายๆตรงไปตรงมา มักจะเริ่มเรื่องโดยการกล่าวถึงตัวละครสำคัญของเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นพ่อ-แม่ของพระเอกหรือนางเอก แล้วดำเนินเรื่องไปตามเวลาปฏิทิน ตัวละครเอกพบอุปสรรคปัญหา แล้วก็ฟันฝ่าอุปสรรคหรือแก้ปัญหาลุล่วงไปจนจบเรื่อง ซึ่งมักจะจบแบบมีความสุข หรือสุขนาฏกรรม ถ้าเป็นนิทานคติ ก็มักจะจบลงว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…..” 


      ถ้าเป็นนิทานชาดกก็จะบอกว่าตัวละครสำคัญของเรื่องในชาติต่อไป ไปเกิดเป็นใครบ้าง ถ้าเป็นนิทานปริศนาก็จะจบลงด้วยประโยค คำถาม  ลักษณะที่สำคัญที่สุดของนิทานพื้นบ้านคือเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาด้วยปากและไม่ทราบว่าผู้ใดแต่ง


 
ความสำคัญของนิทานพื้นบ้าน



          นิทานพื้นบ้านมีบทบาทสำคัญต่อการถ่ายทอดการเรียนรู้ เสริมสร้างบุคลิกภาพ มีพลังโน้มน้าวความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสังคมในหลายด้าน กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1.    นิทานพื้นบ้านเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพของมนุษย์โดยทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น เพราะในนิทานพื้นบ้านเป็นที่ประมวลแห่งความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความนิยม ความกลัว ความบันเทิงใจ ระเบียบแบบแผน และอื่นๆ
2.   นิทานพื้นบ้านเป็นเสมือนกรอบล้อมชีวิตให้อยู่ในขอบเขตที่มนุษย์ในสังคมนั้นๆนิยมว่าดีหรือถูกต้อง แม้กฎหมายบ้านเมืองก็ยังไม่สามารถบังคับจิตใจของมนุษย์ได้เท่า เพราะมนุษย์ได้ฟัง ได้ซึมซับสั่งสมการอบรมนั้นๆไว้ในวิถีชีวิตตั้งแต่เด็ก
3.    นิทานพื้นบ้านทำให้มนุษย์รู้จักสภาพชีวิตท้องถิ่นโดยพิจารณาตามหลักที่ว่าคติชาวบ้านเป็นพื้นฐานชีวิตของคนชาติหนึ่งๆหรือชนกลุ่มนั้นๆ
4.    นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกของชาติในฐานะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์แต่ละชาติแต่ละภาษา มีการจดจำและถือปฏิบัติกันต่อๆมา
5.    นิทานพื้นบ้านเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ เป็นต้นเค้าแห่งศาสตร์ต่างๆและช่วยให้การศึกษาในสาขาวิชาอื่นกว้างขวางยิ่งขึ้น
6.    นิทานพื้นบ้านทำให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ช่วยให้คนแลเห็นสภาพของตนว่าคล้ายคลึงกับคนอื่นๆ ความคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดความเป็นกลุ่มไม่เกิดการแบ่งแยก
7.    นิทานพื้นบ้านเป็นเครื่องบันเทิงใจยามว่างของมนุษย์





ที่มา : http://www.thaifolk.com/Doc/literate/tales/type.htm

 

นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ


นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ



เรื่อง อ้ายก้องขี้จุ๊





    ใคร ๆ ในเวลานั้นก็รู้กันว่าอ้ายก้องเป็นคนขี้จุ๊ (มักกล่าวเท็จ) จุ๊ไม่เลือกว่าเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นธุเจ้า (พระสงฆ์) หรือเป็นพระยาเจ้าเมือง เรื่องที่ก้องหลอกพ่อแม่ มีเรื่องเล่าดังนี้

          วันหนึ่งก้องลาพ่อแม่ไปเที่ยวที่ไกล หายหน้าไปหลายวัน พอกลับมาก็เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าที่ไปเที่ยวมานั้นม่วน (สนุก) มาก ค้าขายก็ดี พ่อค้าวัวต่างวัวหลัง (ขายดี ของที่บรรทุกหลังวัวมาหมดเกลี้ยง) ทำให้ก้องอยากเป็นพ่อค้าวัวต่างบ้าง ขอให้พ่อช่วยซื้อวัว ซื้อสินค้าให้ แล้วชวนพ่อไปค้ากับตนที่เมืองนั้น พ่อเองทั้งนึกกลัวว่าก้องจะจุ๊เอาอีกอย่างที่แล้ว ๆ มา แต่ก้องก็ยืนยันว่าคราวนี้จะไม่จุ๊แน่นอน ทั้งพ่อก็กำกับไปเองด้วย ไม่ต้องกลัวว่าก้องจะทำเหลวไหลให้เสียเงินเสียทอง พ่อแม่จึงยอมตกลงซื้อวัว ซื้อของบรรทุกไปค้าขายกับก้อง

          เมืองที่ว่าค้าขายดีนั้นดีจริงเหมือนก้องพูด พ่อกับก้องขายของหมด ซื้อไปขายมาได้เงินมากได้กำไรจนเพลินไปเกือบจะไม่ได้ปิ๊กบ้านปิ๊กเมือง (กลับบ้านกลับเมือง) อยู่มาวันหนึ่งก้องเตือนพ่อขึ้นว่า จากบ้านมานานแล้วนึกเป็นห่วงแม่อยากจะกลับไปเยี่ยม พ่อก็เห็นดีด้วย แต่ขณะที่กำลังซื้อขายคล่อง ถ้ากลับไปก็เสียดาย จึงตกลงกันว่าให้พ่อค้าขายอยู่ทางนี้ ให้ก้องกลับไปเยี่ยมแม่คนเดียวเอาเงินเอาทองที่ทำมาหาได้ไปฝากแม่ด้วย

          ก้องรับเงินทองจากพ่อแล้วออกเดินทางไป แต่ไม่ตรงไปหาแม่เดียว เที่ยวไถลไปไหน ๆ จนเงินทองหมดตัวจึงกลับไปหาแม่ พอพบหน้าแม่ก็ทำเป็นเศร้าโศกร้องไห้ฟูมฟายว่าไปมาคราวนี้พาพ่อไปล้มไปตาย ข้าวของสมบัติอะไร ๆ ที่ติดตัวไปก็ล่มหมด พ่อตายทำบุญให้แล้วก็รีบกลับมากาแม่นี่แหละ อู้ (พูด) อย่างนี้แล้วก็แนะแม่ว่า เวลานี้พ่อก็หาไม่แล้ว (ตาย) ควรขายบ้านเก่าเสียแล้วย้ายไปเมืองอื่นที่ทำมาหากินได้ดีกว่าเมืองนี้

          ก้องจะอยู่ช่วยแม่ค้าขาย ไม่จากแม่ไปไหนอีกแล้ว แม่กำลังเศร้าโศกเสียใจก็ตกลงทำตามที่ก้องแนะนำ ขายบ้านเก่าแล้วย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้วแม่ก็ยังไม่หายเสียใจ ร้องไห้คิดถึงพ่ออยู่เสมอ ก้องจึงปลอบแม่ว่า "แม่อย่าร้องไห้เสียใจไปนักเลย ไหน ๆ พ่อก็ตายไปแล้ว นึกหาเอาใหม่ก็แล้วกัน"แม่ตอบว่า "จะหาคนเหมือนพ่อไม่ได้แล้ว ถ้าได้อย่างพ่อก็จะเอาใหม่" ก้องจึงบอกแม่ว่า "ถ้าต้องการอย่างนั้นก็บ่ยาก แต่ก่อนเมื่อข้าเที่ยวไป ข้าปะพ่อชายคนหนึ่งเหมือนพ่อไม่ผิดกันเลย ข้าจะไปชักมาให้แม่"

          ครั้นแล้วก้องก็ลาแม่ไป กลับไปหาพ่อที่คอยฟังข่าวอยู่ ก้องพบพ่อทำเป็นร้องไห้รำพันร่ำไรว่ากลับไปบ้านนี้เคราะห์ร้ายมาก ไม่ได้พบหน้าแม่ แม่ตายเสียแล้วตั้งแต่ยังค้าขายกันอยู่ บ้านช่องก็เสียหายเป็นของเขาอื่นไปแล้ว พ่อได้ยินว่าแม่ตายเสียแล้วอย่างนั้นก็เสียใจมาก ร้องไห้คิดถึงแม่อยู่หลายวัน วันหนึ่งก้องได้ช่อง (ได้โอกาส) ก็เข้าไปปลอบพ่อว่า "พ่ออย่าร้องไห้ไปเลย เมื่อก่อนที่ข้าเที่ยวไป ข้าปะหญิงคนหนึ่งเหมือนแม่ไม่มีผิด เมื่อพ่ออยากเห็นข้าจะพาไปที่บ้าน"

          ก้องชักพ่อมาหาแม่ที่เมืองที่แม่ย้ายมาอยู่ใหม่ แล้วรีบหนีไปเที่ยวเสียที่อื่นต่อไป พ่อแม่พบกันนึกว่าเป็นพ่อชาย แม่หญิง ที่เหมือนคู่เก่าของตนที่ตายไปแล้ว ก็ดีใจมาก ตกลงอยู่กินกันต่างคนต่างนึกว่าตนได้คู่คนใหม่

          อยู่มาวันหนึ่ง แม่บ่นถึงก้องว่าหายไปนานแล้วไม่กลับ ไปเที่ยวจุ๊อยู่ที่บ้านไหนก็ไม่รู้ พ่อได้ยินออกชื่อก้องก็สงสัย ซักถามกันขึ้น ก็ความแตกว่าต่างคนมีลูกชื่อก้องขี้จุ๊คนนั้นเอง ลูกหลอกให้มาได้กันเหมือนได้ผัวใหม่เมียใหม่

          ส่วนที่ก้องจุ๊ธุเจ้านั้น มีเรื่องเล่าว่า อาจารย์เจ้าวัดหนึ่งเป็นคนขี้หวง ถึงหน้าต้นไม้ในวัดออกลูกออกผล อาจารย์ก็ป้องกันแข็งแรงกลัวว่าใครจะมาขอมาขโมย คราวหนึ่งมะม่วงในวัดออกลูกมากมาย คนในวัดและชาวบ้านแถวนั้นรู้ดีว่าเจ้าวัดหวงมาก ถึงอย่างไร ๆ ก็คงไม่ยอมให้มะม่วงใคร ก้องอยากลองดีจึงบอกกับพ่อว่าฉันจะเอามะม่วงในวัดมาให้พ่อกินให้ได้ พ่อก็หัวเราะประมาทหน้า แน่ใจว่าเอาของท่านมาไม่ได้

          ก้องท้าพนันกับพ่อว่า ถ้าเอามาได้พ่อจะให้เท่าไร พ่อบอกว่าได้มะม่วงมาลูกหนึ่งจะให้พันตำลึงทอง ก้องจึงรับรอง่าถ้าได้พันตำลึงทองจะเอามาให้พ่อตะกร้าใหญ่ ไม่ต้องนับว่ากี่ลูก แล้วก็แต่งตัวโอ่โถง ลงเรือหายหน้าไป ๒ – ๓ วัน พ่อก็ไม่รู้ว่าก้องไปไหนพอกลับมาก้องรีบมาที่วัดเข้าไปเคารพอาจารย์เจ้าวัด แล้วบอกว่า "ข้าพเจ้าเป็นคนรับคำสั่งท่านพญาเจ้าเมืองให้มาตรวจดูสถานที่ในวัดท่านจะมาแปง (สร้าง) หอหลวง ท่านให้มาถามอาจารย์ก่อนว่าจะยอมอนุญาตให้สร้างหรือไม่"อาจารย์เจ้าวัดเห็นก้องแต่งตัวภูมิฐาน ท่าทางดี นึกว่าพญาเจ้าเมืองใช้ให้มาจริง ๆ ก็บอกอนุญาตให้ก้องเที่ยวเดินไปทั่ววัดตรวจไปพลางเอาเชือกเที่ยววัดตรงนั้นตรงนี้ทำท่าเหมือนจริง ครั้นวัดและจดได้เสร็จแล้ว ก็บ่นดัง ๆ ให้เจ้าวัดได้ยินว่า "สะดายสะดาย ( เสียดาย ) มะม่วงต้องตัด หอหลวงนี้ใหญ่โตมาก กินที่ไปถึงต้นมะม่วงพวกนี้ด้วย" อาจารย์เห็นวาได้หอหลวงใหญ่ถึงจะตัดมะม่วงสักต้นก็ยอม และเมื่อไหน ๆ จะตัดมะม่วงอยู่แล้ว ก้องจะเก็บเอาลูกไปบ้างก็ได้ไม่หวงเอาไว้เหมือนแต่ก่อน ทั้งก้องก็เป็นคนที่จะไปนำพญาเจ้าเมืองมาแปงหอหลวงในวัดนี้ จึงให้ก้องเก็บมะม่วงเอาไปตะกร้าหนึ่ง ก้องเอามะม่วงไปให้พ่อ พอร้องทวงตำลึงทองตามที่พ่อสัญญาไว้ พ่อกลับร้องด่าเอาว่า "มึงรู้จักจุ๊ธุเจ้าเอามะม่วงมาได้ กูไม่รู้จักจะจุ๊ใคร จะเอาคำที่ไหนมาหื้อ (ให้) มึงตั้งพัน"

          ส่วนเรื่องที่ก้องจุ๊พญาเจ้าเมือง มีว่า พญาเจ้าเมืองรู้ว่าก้องเป็นคนขี้จุ๊ ใคร ๆ ก็เสียรู้ นึกอยากลองปัญญา จึงให้คนไปหาตัวมาเฝ้าแล้วท้าให้จุ๊ตัวบ้างดูว่าตนจะหลงเชื่อเสียรู้ก้อง หรือไม่ ก้องก็รับปากว่าจะลองดู แล้วทูลขอเอาไว้ก่อนล่วงหน้าว่าอย่าเอาโทษตนเป็นอันขาด ไม่ว่าตนจะทำให้พญาเสียรู้สักแค่ไหน เจ้าเมืองก็รับคำแล้วบอกให้ก้องเริ่มได้ แต่ก้องบอกว่าจะจุ๊เจ้าเมืองในวังไม่ได้ ต้องออกไปข้างนอกไกล ๆ แล้วพาเจ้าเหนือหัวเดินออกไปนอกเมืองไกลจนถึงบวก (หนองน้ำ) แห่งหนึ่ง แล้วทูลขอให้เจ้าเมืองลงไปยืนในหนองน้ำนั้น ตนจะจุ๊ให้ขึ้นจากหนองน้ำให้ได้ พญาเจ้าเมืองก็ลงไปในหนองน้ำแล้วตั้งใจว่าก้องจะจุ๊อย่างไรก็ไม่ยอมขึ้น

          พอเจ้าเหนือหัวลงไปอยู่ในหนองเรียบร้อยแล้ว ก้องก็ร้องทูลว่า "ข้าพเจ้าจุ๊ให้ท่านเดินออกจากวังมานอกเมืองไกลแค่นี้แล้ว ส่วนที่จุ๊ให้ลงไปอยู่ในน้ำนั้นจะขึ้นหรือไม่ก็ตามพระทัยเถิด" ก้องกล่าวดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลากลับไปเสียเฉย ๆ พญาเจ้าเมืองก็รู้ว่าเสียท่าก้องเสียแล้ว และตั้งแต่เสียรู้ก้องวันนั้นแล้วก็ผูกใจเจ็บอยู่เสมอ วันหนึ่งจึงให้ไปจับก้องลงโทษ ให้เอาใส่หีบไม้ล่อ (โผล่) แค่คอแล้วแขวนเอาไว้บนต้นไม้ริมแม่น้ำใกล้ทางหลวง แขวนประจานเอาไว้เจ็ดวันให้คนทั้งหลายดูหน้าคนบังอาจจุ๊เจ้าเหนือหัว เมื่อครบเจ็ดวันแล้ว จะให้โค่นต้นไม้ตกแม่น้ำไปให้ก้องจมน้ำตายอยู่ในหีบไม้ใบนั้น

          ผู้คนก็พามาดูอ้ายก้องขี้จุ๊กันมากมาย ในเย็นที่ก้องจะต้องตายนั้น เผอิญอ้ายเงี้ยวตาฟางคนหนึ่งเดินงุ่มง่ามมา ก้องแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจมาก ร้องเรียกให้เข้ามาใกล้ ๆ เงี้ยวตาฟางจึงถามว่าก้องเป็นใคร ก้องบอกว่าตนเป็นคนตาบอด หมอรักษาตาเอาใส่หีบแขวนไว้ เวลานี้ตาหายแล้วเห็นดีแล้ว เงี้ยวตาฟางอยากตาดีบ้าง จึงขอให้ก้องช่วยเอาตัวใส่หีบแขวนไว้ เงี้ยวจึงช่วยก้องออกมาแล้วเข้าไปอยู่ในหีบแทน ครบกำหนดเจ็ดวัน เพชฌฆาตก็มาโค่นต้นไม้ เงี้ยวตาย ส่วนก้องพ้นตายไปได้ แล้วก็ไปเฝ้าเจ้าเมือง เจ้าเมืองแปลกใจว่าเหตุใดก้องตากน้ำแล้วยังไม่ตาย

          ก้องจึงกุเรื่องขึ้นเล่าว่า "ตกน้ำไปจริงแต่ไม่ตาย ได้ไปเที่ยวถึงเมืองพญานาค เมืองนั้นสนุกสนานมาก มีแต่ผู้หญิงงาม ๆ ทั้งเมือง ไม่มีผู้ชายเลย" แล้วขยายเรื่องจนเจ้าเมืองอยากไปบ้าง ขอให้ก้องช่วยจัดการให้ได้ไปเที่ยวถึงเมืองพญานาค ก้องจึงเอาเจ้าเมืองใส่หีบทิ้งน้ำ เป็นอันว่าพญาเจ้าเมืองไม่ได้กลับมาครองบ้านเมืองอีกต่อไป

          ส่วนก้องกลับมาเฝ้านางเทวี ชายาเจ้าเมือง เล่าว่าเจ้าเมืองไปอยู่เมืองพญานาค มีความสุขสนุกสนาน ไม่ยอมกลับบ้านเมืองอีกแล้ว มอบให้ก้องเป็นพญาแทน ส่วนเจ้านางเทวีนั้น พญาสั่งว่าอย่าให้เอาผู้ใดเป็นผัวนอกจากก้อง อ้ายก้องขี้จุ๊ก็ได้เป็นพญาแต่นั้นมา


          ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

        - ให้ความสนุกเพลิดเพลิน
        - ให้เห็นถึงความโกหกหลอกลวงของคนที่โกหกหลอกลวงไม่เลือกแม้แต่พ่อแม่พระสงฆ์
         - คนมีสติปัญญาสามารถเอาตัวรอดได้เสมอ








เรื่อง  ไอ้เซี่ยงเมี่ยงค่ำพญา (ศรีธนญชัยรังแกพญา)






     วันหนึ่งเจ้าเมืองเดินทางไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ก็ได้ไปพบไอ้ศรีธนญชัย ไม่รู้จักว่าเป็นไอ้ศรีธนญชัย ไอ้ศรีธนญชัยก็ทักเจ้าเมืองว่า ‘’สาธุ ท่านเจ้าเมืองจะไปไหน‘’ เจ้าเมืองตอบว่า ‘’จะไปเที่ยว‘’  ไอ้ศรีธนญชัยก็ว่า ‘’เจ้าเมืองนี่ข้าหลอกได้แน่นอน” ‘’เด็กน้อยอย่างเจ้านะหรือ จะมาหลอกเราได้ ‘’ เจ้าเมืองตอบ ‘’จะหลอกข้าอย่างไรล่ะ‘’ ‘’ไม่ยากหรอก ถ้าจะหรอกละก็” ‘’ก็ไหนลองหลอกกูดูทีซิ ‘’โอ งั้นหรือ งั้นก็ลงมานี่ก่อนซิ เจ้าเมืองลงมาเสียก่อนแล้วข้าจะหลอก” ทันใดนั้นเจ้าเมืองก็ลงไป… ไอ้ศรีธนญชัยก็ว่า ‘’นี่ไงล่ะ เจ้าเมืองก็ลงมาตามที่ข้าหลอก” ตอนนี้ก็นับได้ว่าไอ้ศรีธนญชัยหลอกเจ้าเมืองได้

ต่อมาอีกหลายวัน เจ้าเมืองก็พบไอ้ศรีธนญชัยอีก มันก็บอกว่า ‘’ ขอเชิญเจ้าเมืองเข้ามานี่อีกทีเถอะ ข้ามีอะไรจะหลอกอีก ” เจ้าจะหลอกข้าได้อย่างไรล่ะ‘’ ‘’มาเถอะน่า ขอให้เจ้าเมืองกระโดดลงไปในหนองน้ำนั้นก่อน แล้วข้าจะหลอก” เจ้าเมืองก็รีบกระโดดลงไปในหนองน้ำ ‘’ นั่นไง ดูซิเจ้าเมืองก็ตกลงไปในหนองน้ำที่ข้าหลอกจนได้ ‘’ ก็เป็นอันว่าเจ้าเมืองแพ้ศรีธนญชัยอีกครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองก็โกรธมากคิดจะฆ่าไอ้ศรีธนญชัยเสีย ถ้าขืนปล่อยให้อยู่ต่อไปมันก็จะหลอกเราอยู่เรื่อยไป

ต่อมาไอ้ศรีธนญชัยก็ไปพบเจ้าเมืองเข้าอีก มันพูดว่า ‘’ คนอย่างเจ้าเมืองนี่ถ้าไปเที่ยวบ้านข้าไม่ฟ้อนรำละก็ต้องเข็ดแน่ๆ ” ‘’ โธ่ ไอ้ศรีธนญชัย คนอย่างกูนี่น่ะหรือจะไปฟ้อนรำทำไมที่บ้านมึง ” ” ไม่เชื่อก็ขอเชิญไปทีเถอะน่า ‘’ บ้านไอ้ศรีธนญชัยอยู่คนละฝั่งคลอง มีไม้พาดข้ามสะพานเท่าลำแขนเท่านั้น เมื่อเจ้าเมืองเดินข้ามสะพานไม้นี้ก็เดินเอี้ยวไปเอี้ยวมา มือไม้ก็กางออกไป ไอ็ศรีธนญชัยก็ว่า ” นี่ไงล่ะเจ้าเมืองท่านฟ้อนรำหรือไม่ล่ะ ‘’ ก็เป็นอันว่าเจ้าเมืองถูกไอ้ศรีธนญชัยหลอกเอาอีกครั้งหนึ่ง

ไอ้ศรีธนญชัยก็บอกว่า ‘’ ถ้าหากเข้าไปอีกหน่อยนะจะถึงประตูบ้านข้า ถ้าหากเจ้าเมืองไม่ไหว้เข้าไปละก็ข้าว่าเข็ดแน่ๆ เลย ‘’ เจ้าเมืองก็ว่า ‘’คนอย่างกูนี่นะหรือจะไปไหว้มึง‘’ ‘’ เอาเถอะน่า…ลองดูก็แล้วกัน ” บ้านไอ้ศรีธนญชัยนั้นอยู่ในป่าหญ้าคาหาทางเข้าไปลำบากแทบมองไม่เห็นทาง เพราะต้นหญ้าคาขึ้นทึบไปหมด ก็ต้องใช้มือแหวกหญ้าเข้าไปเรื่อย ๆ ศรีธนญชัยเห็นดังนั้นก็ร้องว่า ‘’ นี่ไงล่ะเจ้าเมืองไหว้หรือไม่ไหว้ล่ะ ” เจ้าเมืองก็ต้องแพ้ศรีธนญชัยอีกครั้งหนึ่ง ศรีธนญชัยก็พูดต่อไปอีกว่า ” หากเจ้าเมืองเข้าไปในบ้านข้าแล้วไม่ทำความเคารพเสียก่อนก็เห็นจะต้องเข็ดแน่ๆ” “ไอ้ศรีธนญชัยเอ๊ย คนอย่างกูนะหรือจะทำความเคารพบ้านมึง‘’… ‘’ เอาเถอะน่า ” พอไปถึงบ้านของศรีธนญชัยแล้วประตูบ้านเตี้ยมากเพราะเป็นกระท่อมเล็กๆ เจ้าเมืองไปถึงก็ต้องก้มหัวลอดเข้าไป ศรีธนญชัยได้ทีเลยพูดว่า ‘’ นั่นไงล่ะท่านเจ้าเมืองกำลังทำความเคารพบ้านข้าแล้ว ” ในที่สุดเจ้าเมืองก็พูดขึ้นว่า ‘’ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปถ้าแผ่นดินนี้ไม่กลับข้างล่างมาเป็นข้างบนละก็ ไอ้ศรีธนญชัยมึงอย่าได้ย่างเหยียบเข้ามาบ้านเมืองกูอีกนะ มึงจงออกจากบ้านเมืองกูไปเสีย ”… ศรีธนญชัยก็หนีออกจากบ้านเมืองไป


พอย่างเข้าเดือนเก้าเดือนสิบ… ชาวบ้านเขาก็ทำไร่ไถนาดินที่ไถนามันกลับข้างล่างเป็นข้างบน… ศรีธนญชัยก็กลับเข้าบ้านเข้าเมืองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าเมืองเห็นก็พูดว่า ‘’ ไอ้ศรีธนญชัย กลับมาอีกแล้วหรือ ไหนกูบอกมึงว่าอย่างไรมึงจำไม่ได้หรือ มึงต้องตายแน่วันนี้ กูบอกมึงว่าถ้าแผ่นดินไม่กลับข้างล่างเป็นข้างบน ห้ามไม่ให้มึงกลับเข้ามาในบ้านเมืองของกูไม่ใช่หรือ ‘’ ศรีธนญชัยก็ตอบว่า ‘’ ขอเชิญเจ้าเมืองออกไปดูตามทุ่งนาบ้างซิ แล้วจะเห็นว่าแผ่นดินครั้งหนึ่ง เลยสั่งว่า ‘’ พรุ่งนี้ให้มึงไปสานตะกร้าใบเล็กที่สุดมาให้ใบ” ศรีธนญชัยก็กลับไปสานตะกร้าใบเล็กที่สุดคลุมหัวเต่าเข้าไปสู่เจ้าเมือง ‘’ ไหนล่ะตะกร้าใบเล็กที่กูสั่งให้มึงสาน ‘’ ศรีธนญัชยก็แก้ห่อให้ดูก็เห็นตะกร้าใบเล็กที่สุดครอบอยู่บนหัวเต่า เจ้าเมืองเห็นดังนั้นก็หาวิธีใหม่ โดยสั่งให้ศรีธนญชัยสานตะกร้าใบใหญ่ที่สุด ศรีธนญชัยก็สานตะกร้าใบใหญ่จนเข้าประตูเมืองไม่ได้ จึงเข้าไปบอกเจ้าเมืองว่า สานตะกร้าเสร็จแล้วและเอาเข้าประตูเมืองไม่ได้

ตลอดทางเจ้าเมืองก็คิดหาทางแก้แค้นไอ้ศรีธนญชัยให้ได้… เลยท้าพนัน ศรีธนญชัยว่า… “ถ้าใครถ่ายอุจจาระได้โดยไม่ถ่ายปัสสาวะคนนั้นรอดตาย”… ตอนนั้นศรีธนญชัยได้ถ่ายปัสสาวะมาก่อนแล้วจึงชนะเจ้าเมืองอีก… ศรีธนญชัยจึงเอาค้อนทุบศรีษะเจ้าเมืองเสีย… ในที่สุดเจ้าเมืองก็ต้องมาตายเพราะศรีธนญชัยจนได้


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
       จากเนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวที่เล่าสู่กันฟัง ให้เกิดความสนุกสนาน ขำขัน เพลิดเพลิน และแฝงด้วยแนวคิด เป็นบทสอนใจให้กับผู้ที่ได้รับฟังว่า… “คนที่มีสติปัญญาย่อมเอาตัวรอดได้เสมอ”


วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561

นิทานพื้นบ้านภาคกลาง



   นิทานพื้นบ้านภาคกลาง   



เรื่อง ไกรทอง



 



     ไกรทอง เป็นนิทานพื้นบ้านของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำใหญ่ๆ จังหวัดพิจิตร”  


 

          ที่เมืองเมืองนี้มีถ้ำอยู่ใต้น้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีดวงแก้ววิเศษอยู่ในถ้ำ ดวงแก้ววิเศษนี้มันสามารถส่องแสงทำให้ภายในถ้ำนั้นสว่างไสวไปทั่วทั้งกลางวันและกลางคืน ภายในถ้ำนั้นจะมีจระเข้น้อยใหญ่อาศัยอยู่มากมาย จระเข้ทุกตัวเมื่อเข้าไปอยู่ในถ้ำจะกลายเป็นคน เหล่าจระเข้นี้ก็มีจระเข้ที่มีอายุมากแล้ว ที่จระเข้ทุกตัวเคารพและเชื่อฟังชื่อว่า ท้าวรำไพ”  ลูกของท้าวรำไพชื่อท้าวโคจรท้าวโคจรมีลูกชื่อ ชาละวันชาละวันเป็นจระเข้ที่ฉลาดแข็งแรง


          อยู่มาท้าวโคจรตายลง  เนื่องจากถูกจระเข้ด้วยกันกัดตาย ชาละวันก็อยู่มากับปู่ ปู่ก็เฝ้าสอนสั่งอบรมจนเติบใหญ่  ต่อมาชาละวันก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ปกครองจระเข้น้อยใหญ่  แต่ด้วยนิสัยอันธพาลของเจ้าชาละวันมันชอบออกจากถ้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ   เที่ยวไล่จับผู้คนวัวควายกินเป็นอาหาร   ใช้หางของมันฟาดเรือของผู้คนให้ล่มคว่ำ ฟาดสะพานให้พัง ด้วยนิสัยอันธพาลของมันชาวบ้านเมืองพิจิตรกลัวกันมาก เพราะเป็นจระเข้ที่ใหญ่โตมาก


          วันหนึ่งเจ้าชาละวันออกจากถ้ำก็ไปเจอหญิงสาว 2 คน กำลังอาบน้ำ หญิงสาวทั้ง 2 คนเป็นลูกสาวของเจ้าเมืองพิจิตร ชาละวันเห็นก็นึกรัก หญิงสาว 2 คน คนหนึ่งชื่อตะเภาแก้ว อีกคนหนึ่งชื่อตะเภาทอง ชาละวันคาบตะเภาแก้วและตะเภาทองเข้าไปในถ้ำ เมื่อเข้าถ้ำแล้วตัวชาละวัน ก็กลายเป็นคน และได้นางตะเภาแก้วตะเภาทองเป็นเมีย จระเข้ทุกตัวที่เข้าไปในถ้ำ นอกจากจะได้รับแสงสว่างแล้วยังอิ่มทิพย์คือเมื่ออยู่ในถ้ำจะไม่รู้สึกหิวอะไรเลย

          เรื่องนี้รู้ถึงเจ้าเมืองพิจิตรๆ รู้ว่าลูกสาวของตัวเองถูกจระเข้คาบไป “อ๊ะ…มันบังอาจมาก มาคาบลูกสาวไป”  ก็จึงสั่งให้คนป่าวประกาศไปตามเมืองต่างๆว่า”ผู้ใดสามารถปราบจระเข้ได้ จะยกนางตะเภาแก้ว ตะเภาทองให้เป็นเมียพร้อมยกทรัพย์สมบัติให้ครึ่งหนึ่ง”  ก็เที่ยวป่าวประกาศไปตามเมืองต่างๆ

 

          ข่าวนี้รู้ถึงเมืองนนท์มีหนุ่มใจกล้า ชื่อ “ไกรทอง” รู้ข่าวเข้า ไกรทองเป็นคนดีมีความรู้เรียนคาถาอาคมเกี่ยวกับการปราบจระเข้มาโดยเฉพาะ ว่าแล้วไกรทองก็ไปรับอาสา กับเจ้าเมืองพิจิตร ดังนั้นไกรทองก็ต่อแพ เอาไม้ลูกบวบมาทำแพพร้อมเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จะไปปราบชาละวัน เตรียมใส่เสื้อยันต์ ทวนน้ำขึ้นไปจากเมืองนนท์ถึงเมืองพิจิตร พอถึงเมืองพิจิตรก็ร่ายเวทมนต์คาถา “เอ…ถ้ำของชาละวันมันอยู่ตรงไหน ก็ได้โอมๆๆๆ กุ๊กๆๆๆ เพี้ยง”  “เอ๊ะ ตรงนี้คงเป็นถ้ำแน่ๆ เลย”  ก็พักแพทำพิธีกรรม ร่ายเวทมนตร์คาถา


         ทำให้ชาละวันที่อยู่ในถ้ำก็เกิดความร้อนรุ่มจริงๆ แล้วก่อนหน้านั้น ปู่ของชาละวันคือ  “ท้าวโคจร” ได้กำชับนักหนาแล้วว่า “ชาละวันอย่าไปนอกถ้ำช่วงนี้ เพราะเจ้าจะได้รับอันตราย” ชาละวันจึงนั่งทำสมาธิอยู่ในถ้ำ   ด้วยเวทมนตร์คาถาทำให้ชาละวันรู้สึกร้อน อยู่ไม่ได้  “เอ๊ะ เกิดอะไรขึ้นบนผิวน้ำ มันร้อนรุ่มไปหมดเลย”  ใจอยากจะออกไปนอกถ้ำแต่ติดอยู่ที่ปู่สั่งกำชับไม่ให้ออกไปนอกถ้ำ


          ไกรทองร่ายเวทมนตร์กี่จบชาละวันก็ไม่ออกมาซักที  “เอ ทำอย่างไรดี ไม่ได้การละ ทีนี้ต้องใช้เทียนระเบิด” ดังนั้นก็จุดเทียนเพื่อระเบิดถ้ำ แล้วร่ายเวทมนตร์ พลันปากถ้ำก็ระเบิดตูม! ชาละวันก็สงสัย  แล้วว่ายขึ้นบนผิวน้ำ “ใครน่ะ มันบังอาจล่องแพ มาระเบิดประตูถ้ำเราได้ต้องกินมันซะแล้ว” ว่าดังนั้นชาละวันก็ว่ายน้ำตรงไปที่แพ เพื่อจะกินเป็นอาหาร  ไกรทองเมื่อเห็นชาละวันมา  “โอ ใช่แล้วชาละวันตัวนี้เอง วันนี้มึงเสร็จกูแน่ๆ” เตรียมอาวุธต่างๆ มีด หอก


          เมื่อชาละวันเข้ามาใกล้ ไกรทองเอามีดทิ่มแทง เกิดคลื่นปั่นป่วนในน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านแถวนั้นก็มาดูตามริมฝั่งขณะที่ต่อสู้แพก็เกิดแตก  ทันใดนั้นไกรทองก็คว้าหอก เสียบเข้าใต้ท้องของชาละวันเลือดไหลแดงแม่น้ำชาละวันก็จบชีวิตอันชั่วร้ายของชาละวันเอง



ข้อคิด

1.   แม้ตนจะเก่งกล้าสามารถและวิเศษขนาดไหน ย่อมมีผู้ที่เหนือกว่าดังคำที่ว่า “เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า”


2.   ความอาฆาตพยาบาททำให้จิตใจไม่เป็นสุขและนำความทุกข์มาให้กับตนเอง

3. ควรเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่


เรื่อง เขานมนาง (จ.สุพรรณบุรี)


ตำนานเรื่องบางนางบวช เกิดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและอ่างทอง กล่าวกันว่าครั้งหนึ่ง มีหญิงงามชื่อพิมสุราลัย มีรูปร่างหน้าตาสวยงามเป็นที่หมายปอง ของบรรดาชายหนุ่มหลายคนชายหนุ่มเหล่านั้นพยายามแย่งชิงนาง จนเกิดเป็นเรื่องราวทะเลาะวิวาทกัน

          ทำให้นางพิมสุราลัยไม่พอใจ ในที่สุดนางก็ตัดสินใจหนีเข้าไปอยู่ในป่าตามลำพัง ทำมาหากินด้วยการปลูกข้าวและทอผ้า แต่เคราะห์กรรมยังตามไปถึงในป่า มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อตาลีนนท์ ได้เห็นนางเข้าและเกิดความรัก ตาลีนนท์เป็นคนมีเวทมนตร์จำแลงแปลงกายได้ จึงแปลงกายเป็นงูเข้าไปแอบซ่อนอยู่ในกระท่อมของนางพิมสุราลัย

          ครั้นนางเข้าไปในกระท่อม งูแปลงก็เลื้อยเข้าไปรัดนางไว้ นางพิมสุราลัยตกใจจึง คว้ามีดฟันงูนั้นจนตาย เมื่อสิ้นชีวิตเวทย์มนตร์ก็เสื่อมลงร่างของงูจึงกลับคืนเป็นพรานป่า นางพิมสุราลัยรู้ตัวว่าฆ่าคนตายก็มีความตกใจและเสียใจมาก
     


  นางคิดแค้นใจว่า ความสวยงามของนางเป็นเหตุให้เกิดเรื่องเดือดร้อนต่างๆ จนต้องหนีมาอยู่ในป่าก็ยังไม่พ้น จึงคว้าเอามีดมาตัดนมทั้งสองข้างขว้างทิ้งไป กลายเป็นเขา 2 ลูก ชื่อ "เขานม" นางอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นนางก็ซัดเซพเนจรไป ตามลำพังในกลางป่า ตกค่ำก็อาศัยนอนในวัด วัดที่นางพิมสุราลัยไปอาศัยนอนนั้น ต่อมาได้ชื่อว่า "วัดนางนอน" ท้ายที่สุด นางก็ได้ไปบวชอยู่บนเขาแห่งหนึ่ง เขานั้นจึง ได้ชื่อว่า "เขาบางนางบวช"

          นอกจากนั้น ยังมีหมู่บ้านในแขวงเมืองอ่างทองที่เล่ากันว่านางเคยไปถือศีลอยู่ ชื่อว่า "บ้านไผ่"จำศีล ส่วนบ้านเดิมของนางพิมสุราลัยที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ปัจจุบันชื่อ "บ้านเดิมบาง"

 

ข้อคิด

            อย่าลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง

































นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน

⤞   นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ⤟ เรื่อง   ตำนานผาแดงนางไอ่            นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ผาแดงนางไอ่ อดีตกาลผ่านมาใกลโพ้น   ...