⤞ นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ⤟
เรื่อง ตำนานผาแดงนางไอ่
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ผาแดงนางไอ่ อดีตกาลผ่านมาใกลโพ้น ยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ "นครเอกชะทีตา"
มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองด้วยความร่มเย็น พระยาขอมมีพระธิดา
ซึ่งมีพระศิริโฉมงดงามพนะนามว่า "นางไอ่คำ" ซึ่งเป็นที่รักและ หวงแหนมาก
จึงสร้างปราสาท 7 ชั้นให้ อยู่พร้อมเหล่าสนม กำนัล คอยดูแลอย่างดี
ขณะเดียวกันยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ "เมืองผาโพง" มีเจ้าชายนามว่า "ท้าวผาแดง" เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ ท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของธิดาไอ่คำมาก่อนแล้ว ใคร่อยากจะเห็นหน้า จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าพเนจร ถึง นครเอกชะทีตา และติดสินบนนางสนมกำนัล ให้นำของขวัญลอบเข้าไปให้นางไอ่คำ ด้วยผลกรรมที่ผูกพันกันมาแต่ชาติปางก่อนนางไอ่คำกับท้าวผาแดง จึงได้มีใจปฏิพัทธ์ต่อกัน จนในที่สุดทั้ง 2 ก็ได้อภิรมย์สมรักกัน
ซึ่งก่อนท้าวผาแดงจะจากไป เพื่อจัดขบวนขันหมากมาสู่ขอ ทั้ง 2 ได้คร่ำครวญต่อกันด้วยความอาลัยยิ่ง วันเวลาผ่านไปถึงเดือน 6 เป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา จะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถนระยาขอม จึงได้ประกาศบอก ไปตามหัวเมืองต่างๆ ว่า "บุญบั้งไฟปีนี้จะเป็นการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยอีกด้วย ขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษกกับพระธิดาไอ่คำด้วย" ข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศ ทุกเมืองในขอบเขตแว่นแคว้นต่างก็ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขัน เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองเชียงเหียน เชียงทอง แม้กระทั่งพญานาคใต้เมืองบาดาลก็อดใจไม่ไหว ปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกมาดูโฉมงาม นางไอ่คำด้วยในวันงานบุญบั้งไฟ
เมื่อถึงวันแข่งขันจุดบั้งไฟ ปรากฏว่า บั้งไฟท้าวผาแดงจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ถึง 3 วัน 3 คืน จึงระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆทำให้ความหวังท้าวผาแดงหมดสิ้นลง ขณะเดียวกัน ท้าวพังคีพญานาค ที่ปลอมเป็นกระรอกเผือก มีกระดิ่งผูกคอน่ารัก มาไต่เต้นไปมาอยู่บนยอดไม้ ข้างปราสาทนางไอ่คำ ก็ปรากฏร่างให้นางไอ่คำเห็น นางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง แต่แล้วก็จับไม่ได้ จึงบอกให้นายพราน ยิงเอาตัวตายมา ในที่สุดกระรอกเผือกพังคีก็ถูกยิงด้วยลูกดอกจนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า "ขอให้เนื้อของข้าได้แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง" จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกัน และจัดการแล่เนื้อแบ่งกันไปกินทั่วเมืองด้วยว่าเป็นอาหาร ทิพย์ ยกเว้นแต่พวกแม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจ ไม่แบ่งเนื้อกระรอกให้
พญานาคแห่งเมืองบาดาลทราบข่าวท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตาย แล่เนื้อไปกินกันทั้งเมือง จึงโกธรแค้นยิ่งนัก ดึกสงัดของคืนนั้นขณะที่ชาวเมืองชะทีตากำลังหลับไหล เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วยพายุฝนฟ้า กระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฟ้าแลบอยู่มิได้ขาด แผ่นดินเริ่มถล่มยุบตัวลงไปทีละน้อย ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตาย เหล่าพญานาคผุดขึ้นมานับหมื่น นับแสนตัว ถล่มเมืองชะทีตาจมลงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3 - 4 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกจึงรอดตาย
ฝ่ายท้าวผาแดงได้โอกาสรีบควบม้าหนีออกจากเมือง โดยไม่ลืมแวะรับพระธิดาไอ่คำไปด้วย
แต่แม้จะเร่งฝีเท้า ม้าเท่าใด ก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติดๆ
ในที่สุดก็กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำพร้อมม้าแสนรู้ชื่อ "บักสาม"
จมหายไปใต้พื้นดิน
รุ่งเช้าภาพของเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองโอฬาร ก็อันตธานหายไปสิ้น คงเห็นพื้นน้ำกว้างยาวสุดตา ทุกชีวิตในเมืองเอกชะทีตาจมสู่ใต้บาดาลจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่แม่ม่ายบนเกาะร้าง 3 - 4 แห่ง ในผืนน้ำอันกว้างนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนองหานหลวง ดังปรากฏในปัจจุบัน
ข้อคิด
1. เวรย่อมระงับด้วยความไม่จองเวร
2. ควรมีคติประจำใจ
คือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ และ ความไม่หลง
เรื่อง พญาคันคาก
"คันคาก" ในภาษาอีสานที่แปลว่า "คางคก" เรื่อง
"พญาคันคาก" อันเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ
ซึ่งเป็นบุญเดือนหกในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน
ณ เมืองชมพู พระนางสีดา มเหสีของพญาเอกราชผู้ครองเมือง
ได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ
แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก
ซึ่งคันคาก แปลว่า คางคก
เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม
แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก
แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์
ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก
พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทพร้อมทั้งประทานนางอุดรกุรุทวีป
ผู้เป็นเนื้อคู่ให้เป็นชายา ส่วนท้าวคันคากเอง ก็ถอดรูปกายคันคากออกให้
กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม
พญาเอกราชยินดีกับพระโอรส จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองเมืองต่อ ทรงพระนามว่า
พญาคันคาก พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ
จนเมืองน้อยใหญ่ต่างมาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือพญาแถน
ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้พญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถน
จึงแกล้งงดสั่งพญานาคให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง
ชาวเมืองจึงไปร้องขอพญาคันคากให้ช่วย
พญาคันคากจึงเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ กบ เขียด
เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน โดยส่งมดปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน
ทำให้เมื่อถึงเวลารบ พญาแถนไม่มีอาวุธ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา
กลบหมด เสกงูมากัดกินกบเขียด ก็โดนรุ้ง (แปลว่าเหยี่ยว) ของพญาคันคากจับกิน
ทั้งสัตว์มีพิษก็ยังไปกัดต่อยพญาแถนจนต้องยอมแพ้ในที่สุด
พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี
พญาแถนแสร้งว่าลืม พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน
พญาแถนก็เห็นชอบด้วย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุก ๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบเขียดคางคกที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน
ข้อคิด
1. อย่าตัดสินใครจากรูปลักษณ์ภายนอก
2. ผู้ปกครองที่ดีควรปกครองผู้อื่นด้วยหลักธรรม
โดยเฉพาะหลักธรรมของผู้ปกครอง คือ หลักทศพิธราชธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น